fbpx

เช็กอาการข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ รีบรักษาก่อนที่จะสายไป

ผู้สูงอายุมีอาการข้อเข่าเสื่อม

เมื่ออายุมากขึ้น อะไร ๆ ก็เริ่มเสื่อมตามอายุ หนึ่งในนั้นก็คือ “ข้อเข่า” ที่ผ่านการใช้งานมาหลายสิบปี และยิ่งหากว่าใครไม่ได้ดูแลสุขภาพข้อเข่าตั้งแต่อายุยังน้อย หรือใช้งานหนักเกินไป ก็อาจจะทำให้เสื่อมไวกว่าคนรุ่นเดียวกัน ในบทความนี้ ขอชวนคนวัย 60+ มาเช็กอาการข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุที่ต้องระวังและควรพบแพทย์เพื่อรักษาก่อนที่จะสายเกินไป

7 อาการข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุที่ควรพบแพทย์

ผู้สูงอายุหลายคนคิดว่า อาการเจ็บ ๆ ที่เข่าเป็นอาการปกติ เดี๋ยวก็หาย จึงปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา เพราะไม่คิดว่าเป็นอาการของข้อเข่าเสื่อม ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดเมื่อพบอาการผิดปกติของข้อเข่าควรไปตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือสังเกตอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมดังต่อไปนี้

1. ปวดเข่าเวลาเดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ

อาการแรกของข้อเข่าเสื่อมที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ อาการปวดเข่า โดยเริ่มต้นจะรู้สึกปวดตอนที่กำลังเดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อเข่า และแม้ว่าจะหยุดพักแล้ว อาการปวดก็ไม่หายไปหรือบรรเทาลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ หากว่าใครที่ปวดเข่าเรื้อรัง แม้พักไม่ทำกิจกรรมใด ๆ ก็ไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

2. มีเสียงในข้อเข่า ขณะที่กำลังเคลื่อนไหว

อาการอีกอย่างของข้อเข่าเสื่อมที่พบบ่อยในผู้สูงอายุคือ การได้ยินเสียงดังกรอบแกรบของกระดูกเคลื่อนที่เสียดสีกัน นั่นอาจเป็นเพราะกระดูกอ่อนในข้อเข่าเสื่อมสภาพลงไป เกิดเป็นผิวข้อที่ไม่เรียบ ทำให้เกิดการเสียดสีกัน หรือขัดกันเวลาขยับเข่าและทำให้เกิดเสียงดังผิดปกติ

3. มีอาการบวม

หากว่ายังไม่แน่ใจ ลองสังเกตข้อเข่าทั้งสองข้างว่ามีขนาดเท่ากันหรือไม่ เพราะผู้สูงอายุที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมมักจะมีอาการบวมจากการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบหัวเข่า หรือมีน้ำเสียคั่งในข้อเข่า ทำให้เข่าทั้งสองข้างมีขนาดไม่เท่ากันจนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน และอาจมีอาการเข่าอุ่นร่วมด้วย

4. รู้สึกตึง ๆ ที่หัวเข่าเวลานั่งพัก

ใครที่นั่งพักหรือไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร แต่รู้สึกตึง ๆ ที่หัวเข่า อาจเป็นเพราะข้อเข่าขาดความยืดหยุ่น กล้ามเนื้อที่ยึดติดเสียสมดุลหรือเส้นเอ็นที่เสื่อมสภาพลง เนื่องจากต้องรับน้ำหนักแทนข้อเข่าที่ไม่สามารถรับน้ำหนักได้เหมือนปกติ เกิดการล้าและอักเสบของกล้ามเนื้อเรื้อรัง เมื่อนั่งหรืออยู่ท่าเดิมนาน ๆ อาจจะทำให้รู้สึกตึงได้

5. เข่าฝืด ๆ ขณะลุกยืน หรือเดินลำบาก

คล้ายกับข้อที่ 4 ที่รู้สึกตึงบริเวณหัวเข่า หลังจากที่นั่งหรือยืนนาน ๆ ต้องยืดขาก่อนที่จะขยับเปลี่ยนท่า ซึ่งมักจะเกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงในข้อเข่าลดลง เป็นหนึ่งในสัญญาณข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน

6. กล้ามเนื้อบริเวณเข่าอ่อนแรง

ในระยะเริ่มแรก อาจจะมีอาการเมื่อยบริเวณข้อเข่า เมื่อต้องเดินหรือวิ่งเป็นเวลานาน แต่พอผ่านไปสักพักจะทำให้ปวดเข่าอย่างรุนแรง และทำให้กล้ามเนื้อขาลีบและอ่อนแรงลงได้

7. ข้อต่อยื่นออกมา หรือมีรูปร่างที่แปลกไปจากเดิม

จุดสังเกตสุดท้าย ซึ่งมักจะพบในระยะรุนแรงแล้วก็คือ ข้อต่อบริเวณเข่ายื่นหรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ เข่าโก่งผิดรูป บางรายอาจเดินเซ โคลงเคลง อันเนื่องมาจากบริเวณข้อเข่าเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์โดยด่วน

ระยะของอาการข้อเข่าเสื่อม

อาการข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุจะสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะตามความรุนแรงของโรค ดังต่อไปนี้

  • ระยะที่ 1 เริ่มมีอาการปวดเล็กน้อย แต่ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ เป็นระยะเริ่มต้นที่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากนัก อาจจะรู้สึกปวดรำคาญเมื่อต้องใช้งานข้อเข่าหนัก ๆ หรือเดินเยอะ ๆ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพื่อรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความรุนแรง และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาน้อยกว่า 
  • ระยะที่ 2 ไม่สามารถใช้งานหนักได้ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดข้อเข่ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากว่าทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก ๆ อย่างเดิน วิ่ง ยกของหนัก ๆ และมีอาการปวดแม้แต่ตอนที่นั่งพักแล้วก็ตาม 
  • ระยะที่ 3 ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เป็นระยะที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้สะดวกเหมือนเคย แม้แต่การเดินขึ้นบันได หรือการนั่งยอง ๆ ก็ทำให้ปวดเข่าได้เช่นเดียวกัน
  • ระยะที่ 4 รู้สึกปวดตลอดเวลา เป็นระยะที่ปวดเข่าอย่างรุนแรง แม้แต่ตอนที่นั่งพัก ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม
ดูแลอาการข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุด้วยกายภาพบำบัด

การดูแลภาวะข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม แม้ว่าจะมีความรุนแรง แต่หากดูแลรักษาอย่างถูกวิธีก็จะช่วยชะลออาการได้ อีกทั้งผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ยังสามารถใช้วิธีดูแลรักษาอาการเบื้องต้น เพื่อช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ดังต่อไปนี้

  • ควบคุมน้ำหนัก ยิ่งน้ำหนักมากเท่าไร ข้อเข่าก็ต้องรับแรงกดทับหรือแรงกระแทกขณะยืน เดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ มากเท่านั้น และทำให้อาการข้อเข่าเสื่อมทวีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยชะลออาการข้อเข่าเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การทำกายภาพบำบัด และการปรับท่าทางการเดินและนั่ง การทำกายภาพบำบัดเป็นหนึ่งในวิธีบำบัดรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยที่ไม่ต้องผ่าตัด โดยฝึกการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และปรับท่าทางการเดิน นั่ง และยืนด้วยท่าทางที่ถูกต้อง บรรเทาอาการปวดและลดแรงกดทับที่เข่า
  • เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา นอกจากที่กล่าวมาแล้ว การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ เนื่องจากจะเพิ่มความแข็งแรง รองรับน้ำหนัก และลดแรงกระแทกได้ ช่วยให้เคลื่อนไหวข้อเข่าได้ดีขึ้น และลดอาการปวดลง

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีวิธีรักษาและดูแลภาวะข้อเข่าเสื่อมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การลดกิจกรรมหนัก ๆ ที่ทำให้เกิดแรงกระแทกที่ข้อเข่า ไปจนถึงการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอและลดความเครียด ก็ช่วยทำให้อาการค่อย ๆ บรรเทาลงได้

หากประเมินตนเองแล้วว่า เริ่มมีอาการข้อเข่าเสื่อม แนะนำให้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะที่ไม่รุนแรง จะช่วยให้สามารถรักษาข้อเข่าเอาไว้ได้ ด้วยเทคโนโลยีการซ่อมแซมผิวข้อที่มีประสิทธิภาพ อย่างการใช้เทคโนโลยีชีวโมเลกุล ซึ่งเป็นการรักษาในระดับเซลล์เพื่อสร้างกระดูกอ่อนผิวข้อกลับขึ้นมาทดแทนผิวข้อเดิมที่สึกกร่อนไป ในคนไข้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมซึ่งจะช่วยซ่อมแซมข้อเข่าให้มีอาการที่ดีขึ้นได้

สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม อย่ารอช้า รีบมาปรึกษาแพทย์ที่ Bonefit Clinic คลินิกรักษาเข่าที่รักษาข้อเข่าเสื่อมถึงระดับเซลล์ ใช้เทคโนโลยีชีวโมเลกุลสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน เพื่อซ่อมแซม รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องพักฟื้น นัดหมายกับแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาวันนี้เลย เราทำได้มากกว่าแค่การรักษาตามอาการ แต่ยังช่วยคุณป้องกันอาการปวดข้อ หรือโรคแทรกซ้อนที่อาจตามมาในอนาคตจากการปวดข้อได้ด้วย 

นัดหมายแพทย์ได้เลยวันนี้ที่ โทร. 092 629 7964, 095 251 5952 หรือ Line ID : @BONEFIT Clinic

ข้อมูลอ้างอิง